วันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

หลักสูตรท้องถิ่น


หลักสูตรท้องถิ่น

ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่น
           นักวิชาการและนักการศึกษาหลายท่านได้ให้ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่นไว้หลากหลายดังนี้ กรมวิชาการ (2545) กล่าวว่า หลักสูตรท้องถิ่นหมายถึง มวลประสบการณ์ที่จัดขึ้นทั้งในห้องเรียนและนอกห้องเรียนเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถ ทักษะ เจตคติ และคุณภาพการดำรงชีวิตโดยพยายามใช้ทรัพยากรในท้องถิ่น ภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ผู้เรียนได้เรียนรู้บนพื้นฐานของสภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ของตนเองตลอดจนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ของชาติบ้านเมือง ใจทิพย์เชื้อรัตนพงษ์ (2539) กล่าวว่า หลักสูตรระดับท้องถิ่นหมายถึงมวลประสบการณ์ที่สถานศึกษาหรือหน่วยงานและบุคคลในท้องถิ่นจัดให้แก่ผู้เรียนตามสภาพและความต้องการของท้องถิ่นนั้นๆ ประมวลสาระชุดวิชาการพัฒนาหลักสูตรและวิทยวิธีทางการสอน(มสธ.) (มปป.) ให้ความหมายหลักสูตรท้องถิ่น หมายถึงเนื้อหาสาระและมวลประสบการณ์ที่จัดให้กับผู้เรียนในท้องถิ่นที่หนึ่งที่ใดโดยเฉพาะถ้าพิจารณาขั้นตอนการพัฒนาหลักสูตรของหลักสูตรกลางและหลักสูตรท้องถิ่นจะพบว่ามีขั้นตอนที่แตกต่างกันออกไปบ้างหลักสูตรท้องถิ่นแบ่งได้เป็น 2ลักษณะ คือ  หลักสูตรท้องถิ่นที่สร้างขึ้นเพื่อกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ เป็นหลักสูตรระยะสั้นเพื่อผู้เรียนในท้องถิ่นทุกวัย ทุกระดับอายุ เช่น หลักสูตรจักสาน หลักสูตรการทำของชำร่วยจากเปลือกหอยเป็นต้น หลักสูตรอีกประเภทหนึ่งเป็นหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเสริมหลักสูตรแกนกลางให้มีความสมบูรณ์ขึ้นหลักสูตรท้องถิ่นในลักษณะนี้จะใช้ร่วมกับหลักสูตรแกนกลาง โดยอาจจัดเป็นรายวิชาอิสระที่ให้เลือกเรียนหรือไม่อาจจัดเป็นรายวิชาแต่จัดเป็นกิจกรรมหรือประสบการณ์ที่ผู้สอนสามารถดัดแปลงเนื้อหาที่กำหนดมาจากส่วนกลางมาประยุกต์โดยนำเอาสาระทรัพยากร เทคนิควิธีการท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ได้

หลักสูตรท้องถิ่น
          คือหลักสูตรที่ได้คิดค้น ประยุกต์ มาจากสภาพแวดล้อม ชุมชน ทรัพยากรรวมทั้งบุคลากรและความสนใจ ความสามารถของนักเรียน  กล่าวโดยสรุปหลักสูตรท้องถิ่น คือการจัดประสบการณ์การเรียนและเนื้อหาสาระให้กับผู้เรียนในท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพชีวิตจริงทางสังคมวัฒนธรรมและตอบสนองความต้องการของผู้เรียนและของท้องถิ่นนั้น ๆ 
ความเป็นมาของหลักสูตรท้องถิ่นการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นและจัดการเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวม
(Integratedlearning to the Unified Concept)
            ในการจัดการศึกษาหรือการจัดการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และ ปรับปรุง พ.ศ. 2545 ได้กำหนดการปฏิรูปการเรียนรู้ไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยแนวทางการจัดการศึกษา โดยเฉพาะมาตรา 22 : หลักการจัดการศึกษา มาตรา 23 : สาระการเรียนรู้มาตรา 24 :กระบวนการเรียนรู้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการมีเป้าหมายที่จะพัฒนาผู้เรียนอย่างเป็นองค์รวมโดยผ่านการบูรณาการเรียนรู้ด้านต่างๆ อย่างสมดุล การเรียนรู้บูรณาการแบบองค์รวมเป็นการจัดการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงหลอมรวมเป้าหมายการเรียนรู้ วิธีการเรียนรู้ สาระหรือประสบการณ์ทั้งภายในกลุ่มสาระหรือระหว่างกลุ่มสาระ อย่างกลมกลืนโดยผ่านกระบวนการเรียนรู้ที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และพัฒนาผู้เรียนเป็นองค์รวม (ทุกด้าน)ซึ่งอาจเป็นการเรียนรู้ผ่านโครงงานและการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนที่สอดคล้องกับชีวิตจริง  นับตั้งแต่มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542เป็นกฎหมายการศึกษาแห่งชาติฉบับแรกที่เป็นเสมือนธรรมนูญการศึกษา  ที่กำหนดกรอบแนวคิด  ความมุ่งหมายและหลักการสิทธิหน้าที่ทางการศึกษา ระบบการศึกษา  แนวการจัดการศึกษา  การบริหารและการจัดการศึกษา มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา  ครู  คณาจารย์และบุคลากร ทรัพยากรและการลงทุน เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาไว้ถึง 9 หมวด 78 มาตรา  ที่ครอบคลุมการปฏิรูปการศึกษาไว้ครบทุกด้าน  โดยเฉพาะในหมวด 4 แนวการจัดการศึกษา  ตามความที่ปรากฏในมาตรา 27 กำหนดให้คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานกำหนดหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นไทยความเป็นพลเมืองที่ดีของชาติ การดำรงชีวิต และการประกอบอาชีพตลอดจนเพื่อการศึกษาต่อให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีหน้าที่จัดทำสาระของหลักสูตรตามวัตถุประสงค์ในวรรคหนึ่งในส่วนที่เกี่ยวกับสภาพปัญหาในชุมชนและสังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณลักษณะอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัวชุมชน สังคม และประเทศชาติ  ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของสถานศึกษาโดยตรงที่จะต้องจัดทำหลักสูตรที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาชุมชนและสังคมภูมิปัญญาท้องถิ่น 
  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หลักการจัดการศึกษา แนวการจัดการศึกษา
           ซึ่งระบุไว้ในหมวด 4 ได้แก่มาตรา 22,23 24,252627282930 ซึ่งแสดงแผนภูมิดังต่อไปนี้

ความสำคัญของหลักสูตรท้องถิ่น
          ถึงแม้ว่าจะมีหลักสูตรแกนกลางหรือหลักสูตรแม่บทแล้วแต่ยังต้องมีการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ทั้งนี้มีเหตุผลและความจำเป็นดังต่อไปนี้คือ (ใจทิพย์ เชื้อรัตนพงษ์ 2539:109-110)
               1.1   หลักสูตรแกนกลางหรือหลักสูตรแม่บทได้กำหนดจุดหมายเนื้อหาสาระ และกิจกรรมอย่างกว้าง ๆ เพื่อให้ทุกคนได้เรียนรู้คล้ายคลึงกัน ทำให้กระบวนการเรียนการสอนมุ่งเนื้อหาสาระและประสบการณ์ที่เป็นหลักการทั่ว ๆ ไปไม่สามารถประมวลรายละเอียดเกี่ยวกับสาระความรู้ตามสภาพแวดล้อม สังคม เศษฐกิจ ปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นในแต่ละแห่งได้ทั้งหมด จึงต้องพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่นให้มากที่สุด
              1.2   การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง และด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีผลกระทบโดยตรงต่อทรรศนะและการดำเนินชีวิตของคนไทยทั้งในเมืองและชนบท จึงต้องมีหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อปรับสภาพของผู้เรียนให้สามารถรับกับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ดังกล่าวโดยเฉพาะผลกระทบที่เกิดขึ้นกับภูมิลำเนาท้องถิ่นของตน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาตน ครอบครัว และท้องถิ่นตลอดจนดำเนินชีวิตอยู่ในท้องถิ่นของตนอย่างเป็นสุข
              1.3     การเรียนรู้ที่ดีควรจะเรียนรุ้จากสิ่งที่ใกล้ตัวไปยังสิ่งที่ไกลตัวเพราะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถดูดซับได้รวดเร็วกว่า ดังนั้นจึงควรมีหลักสูตรท้องถิ่นเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ชีวิตจริงตามสภาพเศรษฐกิจสังคมของท้องถิ่นตน แทนที่จะเรียนรู้เรื่องไกลตัว ซึ่งทำให้ผู้เรียนไม่รู้จักตนเอง ไม่รู้จักชีวิต ไม่เข้าใจและไม่มีความรู้สึกที่ดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเอง นอกจากนี้ การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นจะช่วยปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรักและความผูกพัน รวมทั้งภาคภูมิใจในท้องถิ่นของตน
             1.4    ทรัพยากรท้องถิ่นโดยเฉพาะภูมิปัญญาท้องถิ่นหรือภูมิปัญญาชาวบ้านในชนบทของไทยมีอยู่มากมายและมีค่าบ่งบอกถึงความเจริญมาเป็นเวลานาน หลักสูตรแม่บทหรือหลักสูตรแกนกลางไม่สามารถนำเอาทรัพยากรท้องถิ่นดังกล่าวมาใช้ประโยชน์ได้ แต่หลักสูตรท้องถิ่นสามารถบูรณาการเอาทรัพยากรท้องถิ่นและภูมิปัญญาชาวบ้านทั้งหลายมาใช้ในการเรียนการสอน ไม่ว่าด้านอาชีพ หัตถกรรม เกษตรกรรม ดนตรี การแสดงวรรณกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งมีผลทำให้ผู้เรียนได้รู้จักท้องถิ่นของตน เกิดความรักความผูกพันกับท้องถิ่นของตน และสามารถใช้ทรัพยากรท้องถิ่นในการประกอบอาชีพได้  

ลักษณะ/รูปแบบของหลักสูตรท้องถิ่น                          
หลักสูตรท้องถิ่น  มี  2  ลักษณะ/รูปแบบ  คือ                       
      เป็นหลักสูตรที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการสร้างอย่างเท่าเทียมกับครู  และนักวิชาการจากภายนอก  เนื้อหาสาระ  โครงสร้างการจัดเวลา  การจัดการและการบริหารหลักสูตรเป็นไปตามแนวคิดและหลักการทีชาวบ้านในท้องถิ่นให้ความสำคัญ  และเห็นว่าเป็นความจำเป็นที่สมาชิกของท้องถิ่นนั้นจะต้องเรียนรู้เพื่อความอยู่รอด  ตลอดจนการพัฒนาที่ยั่งยืนของท้องถิ่นนั้น โดยเฉพาะมีการบูรณาการวัฒนธรรมท้องถิ่น ความเป็นท้องถิ่น  กระบวนการเรียนรู้ตามวิถีท้องถิ่นกับความสามารถในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้เพื่อพัฒนาท้องถิ่นที่ยั่งยืน  ชาวบ้านที่ร่วมสร้างหลักสูตรมีส่วนร่วมในการประเมินนักเรียน
     เป็นหลักสูตรที่ชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นรวมตัวกันเป็นเครือข่ายจากหลาย ๆ  องค์กรทั้งภาครัฐ  เอกชนและกลุ่มธุรกิจเพื่อมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน  หรือแก้ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชน  เนื้อหาที่บรรจุในหลักสูตรเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับปัญญาชาวบ้านโดยตรง  เป็นสิ่งที่ชาวบ้านให้ความสำคัญ  และเป็นสิ่งที่ชาวบ้านลงความเห็นร่วมกันว่าสามารถช่วยให้ชุมชนพัฒนาตนเองได้โดยคงความเป็นเอกลักษณ์ของตนไว้  ชาวบ้านจัดสรรงบประมาณทั้งหมดที่ใช้ในการพัฒนาและและดำเนินการเอง

แนวทางการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น           
         ในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นอาจมีขั้นตอนแตกต่างกันไปบ้างตามแนวความคิดของนักการศึกษาและนักวิชาการ ดังนี้  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2544 (2544) กล่าวในขั้นตอนการจัดหลักสูตรไว้ดังนี้หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สถานศึกษานำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ในสถานศึกษานั้นกำหนดโครงสร้างที่เป็นสาระการเรียนรู้จำนวนเวลาอย่างกว้าง ๆ มาตรฐานการเรียนรู้ที่แสดงคุณภาพผู้เรียนเมื่อเรียนจบ 12ปี และเมื่อจบการเรียนรู้แต่ละช่วงชั้นของสาระการเรียนรู้แต่ละกลุ่มสถานศึกษาต้องนำโครงสร้างดังกล่าวนี้ไปจัดทำเป็นหลักสูตรสถานศึกษาโดยคำนึงถึงสภาพปัญหา ความพร้อม เอกลักษณ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ทั้งนี้สถานศึกษาต้องจัดทำรายวิชาในแต่ละกลุ่มให้ครบถ้วนตามมาตรฐานที่กำหนด การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นมีขั้นตอนดังนี้ 
ขั้นที่ 1 การจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาหลักสูตรระดับท้องถิ่น         
ขั้นที่ 2 การศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน         
ขั้นที่ 3 การกำหนดจุดประสงค์ของหลักสูตรระดับท้องถิ่น         
ขั้นที่ 4 การกำหนดเนื้อหา        
ขั้นที่ 5 การกำหนดกิจกรรม         
ขั้นที่ 6 การกำหนดคาบเวลาเรียน         
ขั้นที่ 7 การกำหนดเกณฑ์ การวัดและประเมินผล         
ขั้นที่ 8 การจัดทำเอกสารหลักสูตร        
ขั้นที่ 9 การตรวจสอบคุณภาพและการทดลองใช้หลักสูตร         
ขั้นที่ 10 การเสนอขออนุมัติใช้หลักสูตร         
ขั้นที่ 11 การนำหลักสูตรไปใช้          
ขั้นที่ 12 การประเมินผลหลักสูตร
        การปรับหลักสูตรให้เข้ากับสภาพสังคมของท้องถิ่นอาจจะดำเนินการในระดับเขตการศึกษาระดับจังหวัด ระดับอำเภอ หรือระดับโรงเรียนก็ได้ การดำเนินการทุกระดับหากจะให้เป็นไปอย่างมีระบบและเป็นขั้นตอนควรมีลำดับขั้นดังนี้    
ขั้นที่1จัดทำคณะทำงานควรเลือกบุคคลที่มีความสามารถและมีความตั้งใจจริงในการปฏิบัติงานเป็นสำคัญ         
ขั้นที่2ศึกษาสภาพข้อมูลพื้นฐาน เพื่อจะได้ทราบข้อมูลที่แท้จริงภายในสังคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการพัฒนาหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการของท้องถิ่น         
ขั้นที่3กำหนดจุดมุ่งหมายสำหรับหลักสูตรท้องถิ่นว่าจะทำการพัฒนาโดยการปรับหลักสูตรกลางหรือสร้างหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมาเสริมนั้นควรให้บรรลุเป้าหมายอะไรบ้าง         
ขั้นที่4ดำเนินการเลือกเนื้อหาสาระที่มีอยู่ในหลักสูตรกลางที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นและ/ หรือจัดสร้างกระบวนวิชาขึ้นมาใหม่         
ขั้นที่5ดำเนินการใช้หลักสูตรตามที่ได้ปรับขยายไว้แล้วโดยมีการนิเทศติดตามผลการใช้อย่างใกล้ชิด         
ขั้นที่6ประเมินผลการใช้หลักสูตร เป็นขั้นที่มีความสำคัญมากเพราะจะทำให้ทราบว่าหลักสูตรที่จัดทำขึ้นนั้นเหมาะสมหรือไม่อย่างไร          
ขั้นที่7ทำการปรับปรุงแก้ไขเป็นขั้นตัดสินใจเกี่ยวกับหลักสูตรว่าสมควรจะได้มีการปรับปรุงแก้ไข ตรงจุดไหนจึงจะทำให้หลักสูตรเหมาะสมและก่อให้เกิดประโยชน์แก่การศึกษาในสังคม ส่วนรวมและสังคมท้องถิ่นให้มากที่สุด
แนวทางในการพัฒนาหลักสูตรนั้นกรมวิชาการ (2545) ได้ให้แนวทางพัฒนาหลักสูตรเป็น 5ลักษณะ ดังนี้
1. การปรับกิจกรรมการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเสริม ให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการของท้องถิ่น โดยไม่ทำให้จุดประสงค์ เนื้อหา คาบเวลาเรียน ของรายวิชาพื้นฐานนั้นเปลี่ยนไป
2. การปรับหรือเพิ่มรายละเอียดหัวข้อของเนื้อหา หมายถึง การปรับเนื้อหาด้วยการลดหรือเพิ่มปรับรายละเอียดของเนื้อหา โดยไม่ทำให้จุดประสงค์ คาบเวลาเรียน ของรายวิชาพื้นฐานนั้นเปลี่ยนไป         
3. การปรับปรุงสื่อการเรียนการสอน เป็นการเพิ่มเติม ตัดทอน สื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่เพื่อความเหมาะสมสอดคล้องกับท้องถิ่น โดยไม่ทำให้จุดประสงค์ คาบเวลาเรียน ของรายวิชาพื้นฐานนั้นเปลี่ยนไป
4. การจัดทำสื่อการเรียนการสอนขึ้นใหม่ ทำได้โดยการจัดทำหนังสือเรียน คู่มือครู หนังสือเสริมประสบการณ์ แบบฝึกหัด และเอกสารประกอบการเรียนการสอนขึ้นใช้ตามความเหมาะสม ให้สอดคล้องกับจุดประสงค์ เนื้อหา และสภาพท้องถิ่น   
5. การจัดทำคำอธิบายรายวิชาเพิ่มเติมขึ้นใหม่ เป็นการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นทั้งรายวิชาแต่ไม่ซ้ำซ้อนกับรายวิชาที่เป็นรายวิชาพื้นฐานโดยศึกษาทั้งหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรสถานศึกษาที่จัดทำไว้แล้ว        


กิจกรรม(Activity)


กิจกรรม(Activity)

1.สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรื่อง การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา หลักสูตรท้องถิ่น
          หลักสูตรท้องถิ่นและการ พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่น มีนักการศึกษาได้ให้ความหมายของหลักสูตรท้องถิ่นพอสรุปได้ ดังนี้ ใจทิพย์ เชื้อรัตนพงษ์ (2539, หน้า 107) กล่าวว่า หลักสูตรท้องถิ่น หมายถึง มวลประสบการณ์ที่สถานศึกษาหรือหน่วยงานและบุคคลในท้องถิ่นจัดให้แก่ผู้เรียน ตามสภาพและความต้องการของ ท้องถิ่นนั้นๆ วิชัย ประสิทธิ์วุฒิเวชช์ (2542, หน้า 124) กล่าวว่า หลักสูตรท้องถิ่น คือ การนำหลักสูตร แกนกลางทั้งเอกสารหลักสูตรและเอกสารประกอบหลักสูตรที่พัฒนามาจากส่วนกลาง มาปรับขยายหรือเพิ่ม หรือสร้างหลักสูตรย่อยขึ้นใหม่ให้เหมาะสมกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น อุดม เชยกีวงศ์ (2545,หน้า 6) กล่าวว่า หลักสูตรท้องถิ่น หมายถึง หลักสูตรที่สถานศึกษาหรือครูหรือผู้เรียนร่วมกันพัฒนาขึ้นเพื่อมุ่งเน้นให้ ผู้เรียนได้นำไปใช้ในชีวิตจริงเรียนแล้วเกิดการเรียนรู้ สามารถนำไปใช้อย่างมีคุณภาพ และเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมอย่างมีความสุข สำลี ทองธิว (2543, หน้า 18 อ้างถึงใน ณัฐกานต์ เรือนคำ, 2546, หน้า 13) ได้กล่าวไว้ว่า หลักสูตรท้องถิ่น หมายถึง ดังนี้ 1. เนื้อหาสาระ โครงสร้าง การจัดเวลา การบริหารหลักสูตร ซึ่งมาจากความต้องการของคนในท้องถิ่นเป็นสาระ แนวคิด หลักการที่คนในท้องถิ่นให้ความสำคัญ และมองเห็นความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้เพื่อความอยู่รอดและการพัฒนาที่ ยั่งยืนของท้องถิ่นนั้นๆ 2. เป็นหลักสูตรที่คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการสร้างอย่างเท่าเทียมกันครูและ ผู้บริหาร โรงเรียน 3. เป็นหลักสูตรที่คนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการประเมินนักเรียน หรือค้นหาความรู้ทัศนะในการเป็นคนในชุมชน 4. เป็นหลักสูตรที่ผสมผสานวัฒนธรรมของท้องถิ่น ความเป็นท้องถิ่นกับความสามารถในการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เป็นการพัฒนาท้องถิ่นลักษณะเพื่อความยั่งยืนของท้องถิ่นนั้นๆ
          จากความหมายที่ศึกษา สรุปตามกรอบความคิดการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นของผู้วิจัยได้ว่า หลักสูตรท้องถิ่น หมายถึง หลักสูตรที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น โดยการขยายสาระที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมตามสาระและมาตรฐานที่กำหนดไว้แล้วใน สาระการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาในชุมชน สังคม ภูมิปัญญาท้องถิ่น คุณสมบัติอันพึงประสงค์เพื่อเป็นสมาชิกที่ดีของครอบครัว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ
การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น สงัด อุทรานันท์ (2532, หน้า 312-314) ได้เสนอวิธีการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นลักษณะ คือ 1. การประเมินหลักสูตรแกนกลางให้เข้ากับหลักสูตรท้องถิ่น เนื่องจากหลักสูตรที่ใช้ในประเทศไทยเป็นหลักสูตรในส่วนกลางและได้ใช้หลัก สูตรเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศมีมาตรฐานขั้นต่ำทางด้านการศึกษาในระดับเดียวกัน การพัฒนาหลักสูตรเพื่อใช้กว้างขวางในระดับประเทศเช่นนี้จึงมีเนื้อหาสาระ ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของท้องถิ่นอยู่บ้าง ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นทำการปรับเนื้อหาของหลักสูตรบาง ส่วนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของท้องถิ่นได้ 2. การสร้างหลักสูตรย่อยในระดับท้องถิ่นขึ้นมาเสริมหลักสูตรแกนกลาง สำหรับนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน
 


ตรวจสอบทบทวน(Self-Test)


ตรวจสอบทบทวน(Self-Test) 

1.การนำกระบวนการพัฒนาหลักสูตรมาใช้ ในการวางแผนพัฒนาหลักสูตร จะมีสาระสำคัญในประเด็นใดบ้าง
แนวคิดและกระบวนการพัฒนาหลักสูตรที่นิยมนำมาใช้ในการวางแผนหลักสูตร (curriculum planning) ในปัจจุบัน เรียกว่าแนวคิดการบริหารทางวิทยาศาสตร์ (scientific management) ซึ่งเป็นแนวคิดของนักหลักสูตรกลุ่มผลผลิต (product approach) หรือหลักสูตรที่กำหนดผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง (desirable result) ในรูปของคุณลักษณะหรือสมรรถนะในด้านความรู้และทักษะของผู้เรียนเป็นปลายทางของการพัฒนาผู้เรียน แนวคิดหลักสูตรกลุ่มผลผลิตนี้เป็นฐานสำคัญที่ก่อให้เกิดกระแสการศึกษาที่เน้นผลลัพธ์ (outcome based-education) และก่อให้เกิดรูปแบบหลักสูตรใหม่ตามมา ได้แก่ หลักสูตรอิงมาตรฐาน (standards-based curriculum) และหลักสูตรอิงสมรรถนะ (competencies based-curriculum) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ารูปแบบของหลักสูตรจะมีความแตกต่างในด้านการกำหนดเป้าหมาย แต่หลักสูตรในกลุ่มนี้ ล้วนแต่มีวิธีการดำเนินการพัฒนาบนกระบวนการหรือขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน และขั้นตอนเหล่านั้น มาจากแนวคิดของนักหลักสูตรกลุ่มผลผลิต
สาระสำคัญในประเด็น
1. การวินิจฉัยความต้องการ (diagnosis of needs) การศึกษาความต้องการเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรก ผู้พัฒนาหลักสูตร (ครู) จะต้องวินิจฉัยประสบการณ์ ความต้องการและความสนใจของผู้เรียนเพื่อมากำหนดเนื้อหาของหลักสูตร
2. การกำหนดวัตถุประสงค์ (formulation of objectives) เมื่อทราบความต้องการของผู้เรียนหรือของสังคมแล้ว ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องกำหนดวัตถุประสงค์ของหลักสูตร ซึ่งจะใช้กำหนดเนื้อหาว่าจะมีความเฉพาะเจาะจงเพียงใดและวิธีการจัดประสบการณ์การเรียนรู้
3. การเลือกเนื้อหา (selection of content) ผู้พัฒนาหลักสูตรเลือกเนื้อหาสาระที่จะนำมาให้ผู้เรียนศึกษาโดยพิจารณาจากวัตถุประสงค์ เนื้อหาที่เลือกมานั้นจะต้องมีความตรง (validity) ตามวัตถุประสงค์และมีนัยสำคัญ (significance) ต่อผู้เรียน
4. การจัดองค์ประกอบของเนื้อหา (organization of content) เนื้อหาที่คัดเลือกมาได้นั้น ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องนำมาจัดเรียงลำดับ (sequence) โดยใช้เกณฑ์หรือระบบบางอย่าง ทั้งยังจะต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงและการเน้น (focus) ให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ที่จะสอนและระดับของผู้เรียน
5. การเลือกประสบการณ์การเรียนรู้ (selection of learning experiences) ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องพิจารณาเรื่องของการจัดเรียงลำดับประสบการณ์ และจะต้องเลือกวิธีการจัดการเรียนการสอนที่จะสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับเนื้อหาตามวัตถุประสงค์
6. การจัดองค์ประกอบของประสบการณ์การเรียนรู้ (organization of learning experiences) การจัดองค์ประกอบของประสบการณ์การเรียนรู้ ผู้พัฒนาหลักสูตรจะต้องคำนึงถึงยุทธศาสตร์การสอนที่สำคัญคือการพัฒนากระบวนการสร้างมโนทัศน์ (strategic of concept attainment) และคำนึงถึงคำถามสำคัญ ได้แก่ จะทำอย่างไรให้เนื้อหาสาระสอดคล้องกับประสบการณ์และความสนใจของผู้เรียน และจะทำอย่างไรให้การจัดประสบการณ์ การเรียนรู้สอดคล้องและตอบสนองต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล
7. การวินิจฉัยว่าสิ่งที่จะประเมินคืออะไรและจะใช้วิธีการและเครื่องมือใดในการประเมิน (determination of what to evaluate and of the ways and means of doing it) นักหลักสูตร
จะต้องประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร โดยจะต้องตอบคำถามว่า จะประเมินคุณภาพของการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นได้อย่างไรและจะใช้เครื่องมือและวิธีการใดในการประเมิน


กิจกรรม(Activity)


กิจกรรม(Activity)

2. สืบค้นจากหนังสือหรือในระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต เรื่อง พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตร

พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านปรัชญา
            ปรัชญาการศึกษานั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาหลักสูตร โดยใช้กำหนดจุดมุ่งหมาย เลือกเนื้อหาสาระและนำมาจัดหลักสูตรได้อย่างเป็นระบบ ทำให้หลักสูตรนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น
            ปรัชญากับการศึกษามีความสัมพันธ์กันคือ  ปรัชญามุ่งศึกษาชีวิตและจักรวาล ส่วนการศึกษามุ่งศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับมนุษย์ ปรัชญาและการศึกษามีจุดสนใจร่วมกันอยู่อย่างหนึ่งคือ การจัดการศึกษาต้องอาศัยปรัชญาในการกำหนดจุดมุ่งหมายและหาคำตอบทางการศึกษา
            ปรัชญาการศึกษา คือ แนวความคิด หลักการ และกฎเกณฑ์ ในการกำหนดแนวทางในการจัดการศึกษา นอกจากนี้ปรัชญาการศึกษายังพยายามทำการวิเคราะห์และทำความเข้าใจเกี่ยวกับการศึกษา สามารถมองเห็นปัญหาของการศึกษาได้อย่างชัดเจน
       
ลักษณะปรัชญาการศึกษา
ปรัชญาการศึกษาจะต้องมีโครงสร้างที่เป็นระบบที่แน่นอนพอสมควร โดยทั่วไปประกอบด้วยประเด็นดังนี้
            1. คำจำกัดความของการศึกษา
            2. ความมุ่งหมายของการศึกษา
            3. นโยบายหรือแนวทางเพื่อการปฏิบัติในการจัดการศึกษา
            4.  เรื่องอื่นๆ เช่น วิธีการสอนที่จะให้เกิดการเรียนรู้
วิชัย วงษ์ใหญ่ (2554) สรุปสาระสำคัญของปรัชญาการศึกษาไว้ ดังนี้
สารัตถนิยม (Essentialism) การศึกษาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดวัฒนธรรม และอุดมการณ์ทางสังคม การจัดการเรียนการสอนเน้นการถ่ายทอดเนื้อหาสาระต่างๆ ให้กับผู้เรียน
นิรันตรนิยม / สัจจนิยม (Perennialism) มนุษย์มีความสามารถในการใช้เหตุผล การควบคุมตนเอง การจัดการเรียนการสอนเน้นให้ผู้เรียนจดจำ การใช้เหตุผล และตั้งใจทำสิ่งต่างๆ
อัตถิภาวนิยม / สวภาพนิยม (Existentialism) มนุษย์แต่ละคนเป็นผู้กำหนดหรือแสวงหาสิ่งสำคัญ และตัดสินใจด้วยตนเอง การจัดการศึกษาจึงให้เสรีภาพในการเรียนรู้ให้ผู้เรียนรู้จักตนเอง
ปฏิรูปนิยม (Reconstructionism) การปฏิรูปสังคมเป็นหน้าที่ของสมาชิกในสังคม การจัดการเรียนการสอน เน้นให้ผู้เรียนเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมของสังคม เพื่อการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม
พิพัฒนนิยม (Progressivism) การดำรงชีวิตที่ดี อยู่บนพื้นฐานของการคิดและการกระทำ การจัดการเรียนการสอน เน้นให้ผู้เรียนคิด ลงมือกระทำ และแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
นอกจากนี้ วิชัย วงษ์ใหญ่ กล่าวถึงประโยชน์ของวิธีการทางปรัชญาที่มีต่อการพัฒนาหลักสูตร ไว้ดังนี้

1.การจัดจำแนกระบบความคิดความเชื่อพื้นฐานทางการศึกษาที่จะสะท้อนไปสู่การพัฒนาหลักสูตร
2.ปรัชญาเป็นพื้นฐานและเป็นตัวนำไปสู่การตรวจสอบ เสนอแนะเกี่ยวกับจุดมุ่งหมายของการศึกษา ตรวจสอบความสอดคล้องของจุดมุ่งหมายการศึกษากับสังคม
3.กระบวนการพัฒนาหลักสูตรจะต้องศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลอย่างกว้างขวาง วิธีการทางปรัชญาจะช่วยทำให้เกิดความคิดแบบองค์รวม มีเอกภาพทางความคิด
4.วิธีการทางปรัชญา จะทำการวิเคราะห์สาระและธรรมชาติของการศึกษา เช่น ความรู้อะไรที่เป็นประโยชน์ และการจัดการศึกษาอย่างไร จึงจะพัฒนาชีวิตของคนให้มีคุณภาพ

 พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านจิตวิทยา
ในการจัดทำหลักสูตรนั้น นักพัฒนาหลักสูตรต้องศึกษาข้อมูลพื้นฐานทางจิตวิทยา ซึ่งให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เรียนว่าผู้เรียนเป็นใคร มีความต้องการและความสนใจอะไร มีพฤติกรรมอย่างไร จิตวิทยาการเรียนรู้จะถูกนำมาใช้เพื่อให้ได้ความรู้ในเรื่องธรรมชาติของการเรียนรู้และปัจจัยทางจิตวิทยาที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งทฤษฎีการเรียนรู้ได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆได้แก่
            1. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มพฤติกรรมนิยม (Behaviorism)
            2. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มปัญญานิยม (Cognitivism)
            3. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มมนุษย์นิยม (Humanism)
            4. ทฤษฎีการเรียนรู้กลุ่มสรรค์สร้างนิยม (Constructivism)
        นอกจากข้อมูลที่เกี่ยวกับจิตวิทยาการเรียนรู้แล้ว ในการพัฒนาหลักสูตรจำเป็นต้องมีข้อมูลที่เกี่ยวกับพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านผู้เรียนซึ่งมีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องดังนี้
โดนัล คลาก (Donald Clark) กล่าวว่าขั้นตอนการวิเคราะห์ข้อมูลประชากรกลุ่มเป้าหมายมีความจำเป็นและใช้ประโยชน์ได้มาก เมื่อต้องตัดสินใจเกี่ยวกับการเสนอโปรแกรมการเรียนการสอนซึ่งประกอบด้วยข้อมูลต่างๆดังต่อไปนี้
จำนวนผู้เรียน
ทำเล/ที่ตั้งของผู้เรียน
การศึกษาและประสบการณ์ของผู้เรียน รวมถึงประสบการณ์ในปัจจุบัน
ภูมิหลังของผู้เรียน
ระดับความสามารถในการปฏิบัติงานที่ต้องการกับระดับทักษะในปัจจุบัน
ความแตกต่างทางภาษาและวัฒนธรรมของผู้เรียน
สิ่งเร้าของผู้เรียน
แรงจูงใจของผู้เรียน
ความสามารถทางสติปัญญาของผู้เรียน
ความสนใจพิเศษหรืออคติของผู้เรียน
ข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านผู้เรียน เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคุณลักษณะของประชากรกลุ่มเป้าหมายในการจัดการศึกษา โดยเริ่มจากการวิเคราะห์ภาพรวมของผู้เรียนว่าผู้เรียนอยู่ในระบบการศึกษาแบบใด เพื่อมุ่งค้นหาผู้สอนได้อย่างถูกต้องแน่นอน ซึ่งผลการวิเคราะห์ผู้เรียนจะช่วยปรับปรุงผู้สอนให้สามารถจัดการเรียนการสอนที่ตอบสนองความจำเป็นของผู้เรียน
คอคซิม ( Cogsim) เสนอแนวคิดในการวิเคราะห์ผู้เรียน โดยกำหนดคำถามเกี่ยวกับผู้เรียนในประเด็นต่างๆดังนี้
ทักษะ(skill) และเจตคติ(attitudes)
ประสบการณ์(experiences)
มโนทัศน์ที่คลาดเคลื่อน(misconceptions)
สถานภาพของผู้เรียน (demographics)
เป้าหมาย(goal)
การนำไปใช้(uses)   
แบบการเรียนรู้ที่ต้องการ(preferred learning styles)
แรงจูงใจ(motivations)
ความสามารถทางภาษา(language abilities)
ศัพท์เฉพาะ(technical vocabularies
กรมวิชาการ และคณะอนุกรรมการปฏิรูปการเรียนรู้ คณะกรรมการปฏิรูปการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ กล่าวสรุปว่า วิธีวิเคราะห์ผู้เรียนที่จะช่วยให้ผู้สอนได้รู้จักผู้เรียนเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม มีขั้นตอนดังนี้
1. กำหนดจุดมุ่งหมายที่จะใช้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียนแล้วนำไปจัดกลุ่มผู้เรียนในลักษณะกลุ่มเหมือน หรือกลุ่มคละ หรือกลุ่มที่มีจุดมุ่งหมายเฉพาะในเรื่องทักษะ
2. การเก็บรวบรวมข้อมูล ซึ่งมีหลายวิธีเช่น การสังเกต การสนทนา การสัมภาษณ์ การทำแบบทดสอบก่อนเรียน ระเบียนสะสม แฟ้มผลงาน บันทึกสุขภาพ เป็นต้น
3. วิเคราะห์ผู้เรียนรายบุคคล โดยนำเสนอให้เห็นองค์รวมของผู้เรียนใน 3 ด้านคือ ความสนใจ สติปัญญา วุฒิภาวะ และวิธีการเรียนรู้

พื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านสังคม
พื้นฐานด้านสังคมที่สำคัญที่ควรศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาหลักสูตร คือ ข้อมูลที่เกี่ยวกับสภาพของสังคม และแนวคิดของการพัฒนาการทางสังคมซึ่งมี 5 ยุคคือ
        1.ยุคเกษตรกรรม
        2.ยุคอุตสาหกรรม
        3.ยุคสังคมข่าวสารข้อมูล
        4.ยุคข้อมูลพื้นฐานความรู้
        5. ยุคปัญญาประดิษฐ์
            การศึกษาข้อมูลดังกล่าวนั้นเพื่อนำข้อมูลไปใช้ในการทำหลักสูตรให้เหมาะสมกับผู้เรียนในยุคสมัยต่างๆ ประการสำคัญอีกประการหนึ่งในการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านสังคมนั้นมุ่งการสร้างเครือข่ายหรือความร่วมมือของชุมชนเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการจัดทำหลักสูตร เพราะบางรายวิชา สภาพชุมชนและสังคมไม่เอื้ออำนวยหรือส่งเสริมเท่าที่ควรก็อาจเป็นอุปสรรคในการจัดการศึกษา  โดยข้อมูลพื้นฐานการพัฒนาหลักสูตรด้านสังคมนี้ สามารถเก็บรวบรวมข้อมูลได้จากเอกสารรายงานต่างๆ หรือเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสำรวจ สอบถาม และการสัมภาษณ์บุคคลต่างๆ

พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก การศึกษาจึงต้องสอดคล้องไปกับความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นักพัฒนาหลักสูตรจึงต้องใช้ข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาประกอบการกำหนดเนื้อหาของหลักสูตร และวิธีการจัดการเรียนรู้ กล่าวคือกำหนดเนื้อหาที่พอเพียง ทันสมัย ให้ผู้เรียนได้ทราบถึงผลกระทบที่เกิดจากความเจริญก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม กำหนดให้ใช้วิธีการและสื่อการเรียนอันทันสมัย เช่น การสอนแบบทางไกล การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยสอน การใช้อินเทอร์เน็ต (internet) ในการจัดการเรียนรู้ เป็นต้น
พื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเกี่ยวข้องกับการจัดทำหลักสูตรใน 2 ลักษณะคือ
1.นำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาหลักสูตรเพื่อพัฒนาคนให้พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงในสังคม
2.ใช้ในการพัฒนากระบวนการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ดังนั้นการศึกษาข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีผลทั้งในปัจจุบันและแนวโน้มความเจริญในอนาคต จะทำให้สามารถพัฒนาหลักสูตรที่สามารถพัฒนาคนในสังคมให้มีศักยภาพเหมาะสมกับการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตามความต้องการของสังคม

พื้นฐานทางด้านการเมือง การปกครอง
                การเมืองการปกครองมีความสัมพันธ์กับการศึกษา หน้าที่ที่สำคัญของการศึกษาคือ การสร้างสมาชิกที่ดีให้กับสังคมให้อยู่ในระบบการเมืองการปกครองทางสังคมนั้น หลักสูตรจึงต้องบรรจุเนื้อหาสาระและประสบการณ์ที่จะปลูกฝังและสร้างความเข้าใจให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันด้วยความเป็นระเบียบเรียบร้อยและสันติสุข ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน จัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับสภาพของสังคม เช่น การมุ่งเน้นพฤติกรรมด้านประชาธิปไตย เป็นต้น ข้อมูลที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองที่ควรจะนำมาปรับพื้นฐานประกอบการพิจารณาในการพัฒนา หลักสูตร เช่น ระบบการเมือง ระบบการปกครอง นโยบายของรัฐ เป็นต้น

 พื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจ
ในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมที่มีสภาพเศรษฐกิจดี จะทำให้สามารถจัดการศึกษาให้กับคนในสังคมได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ
ประเด็นที่ควรพิจารณาในการพัฒนาหลักสูตรให้เหมาะสมกับพื้นฐานทางเศรษฐกิจ
1. การเตรียมกำลังคน การศึกษาผลิตกำลังคนในด้านต่าง ๆ ให้เพียงพอ พอเหมาะ สอดคล้องกับความต้องการในแต่ละสาขาอาชีพ คือมีความรู้ ทักษะ และคุณสมบัติต่าง ๆ ตรงตามที่ต้องการทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ
2. การพัฒนาอาชีพ จัดหลักสูตรเพื่อพัฒนาอาชีพตามศักยภาพและท้องถิ่น
3. การขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม พัฒนาหลักสูตรให้สามารถพัฒนาคนให้มีความพร้อมสำหรับการขยายตัวทางด้านอุตสาหกรรม
4. การใช้ทรัพยากรให้หลักสูตรเป็นเครื่องปลูกฝังความสำคัญของทรัพยากร ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
5. การพัฒนาคุณลักษณะของบุคคลในระบบเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริงของสังคม
6. การลงทุนทางการศึกษา คำนึงถึงคุณค่าและผลตอบแทนของการศึกษา เพื่อไม่ก่อให้เกิดความสูญเปล่าระบบการนำทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด